000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > หนึ่งในอดีต > ย้อนรอยอดีค-อดีตคำนึง > YAMAHA 1000M (ท้าทายทั่วโลกันต์)
วันที่ : 12/08/2021
19,593 views

YAMAHA 1000M (ท้าทายทั่วโลกันต์)

โดย .....อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ลำโพง YAMAHA NS 1000M ออกสู่ท้องตลาดเมื่อกว่า 35 ปีมาแล้ว สมัยนั้น YAMAHA เพิ่งเริ่มธุรกิจเครื่องเสียงไม่นานเท่าไร (คงจำกันได้ถึงปรีแอมป์ C2 (ต่อมาเป็น C2A) ซึ่งเป็นปรีแอมป์แยกชิ้นที่ถูกที่สุดในท้องตลาดขณะนั้น และสุ้มเสียงก็ไม่เลวด้วย ขายกันได้ดีทีเดียว)

YAMAHA เองบุกตลาดลำโพงแบบคู่ขนาน คือ ใช้ตระกูล NS บุกลำโพงบ้านระดับไฮเอนด์ ขณะที่ลำโพงใช้ในอาชีพหรือในสตูดิโอก็ก้าวประกบลำโพง JBL ที่เป็นขาใหญ่ เจ้าพ่อในสมัยนั้น (เช่นรุ่น 4350, 4343) ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี ลำโพงงานอาชีพของ YAMAHA จะทำออกมาคล้ายๆ (ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง) กับของ JBL ดูเผินๆเหมือนคู่แฝดกันเลย ซึ่งก็ออกมาได้ไม่เลวด้วย

NS 1000M เป็นลำโพงบ้านรุ่นแพงสุด อันนับเป็นเรือธงของ YAMAHA โด่งดังตั้งแต่วันเปิดตัว ตราบจนวันนี้ ในตลาดมือสองก็ยังเป็นที่แสวงหา ในอังกฤษเอง นิตยสารหลายเล่มก็ยกย่องและพูดถึง ในสมัยนั้น ลำโพง NS 1000M (12 นิ้ว 3 ทาง ตู้ปิด) ราคาร่วม 4 หมื่นบาท/คู่ ถือว่า “แพงมาก” (ข้าวมันไก่จานละ 10-15 บาท) บ้านเดี่ยว 8 แสนบาทก็ถือว่าแพงเอาเรื่อง ทาวน์เฮาส์หลังละ 2 แสนบาท ทองบาทละไม่ถึงพันบาท)

NS 1000M มีจุดขายคือ ดอกลำโพงเป็นเบอริเรี่ยม (ก่อนใครในโลกนับสิบๆปี) นัยว่าตอบสนองเสียงสูงได้ระดับเทพกันเลย (สมัยนั้นดอกแหลมที่ตอบสนองเสียงได้สูงก็มี EMIT ของ INFINITY, HAIL AIR MOTION TRANSFORMER ของ ESS ซึ่งพวกนี้เป็นดอกลำโพงเทคโนโลยี่พิสดารทั้งนั้น มีแต่ YAMAHA เจ้าเดียวที่ดอกแหลมเป็นแบบปกติคือ DYNAMIC (จริงๆ ดอกแหลมตอนนั้นจะแตกแขนงเทคโนโลยี่มากกว่านี้ แต่ตอบสนองไม่ได้สูงขนาดน้องๆ SUPER TWEETER เช่นเทคโนโลยี่ของ ELECTROSTATIC, แบบผลึก (CRYSTAL) เช่นของ STR, แบบแผ่นกระจก, แบบโฟม (BSR), หรือแม้แต่ใช้มวลอากาศ (ของค่าย ESS ที่ใช้แกส ต้องมีถังแกสใช้ในรุ่นสูงสุด เป็นระบบ PLASMA กันเลย)

ว่าไปแล้ว สมัยนั้น วงการเครื่องเสียง “สนุก” กว่าปัจจุบันมาก มันเครื่องเสียงจริงๆ ไม่ใช่กลายพันธุ์แทบจะเป็นคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า NS 1000M ต้องแพงมาก เพราะเบอริเรี่ยมเอง ว่ากันว่า แพงกว่าทองเสียอีก (ปรีแอมป์บางรุ่นของ Mark Levinson รุ่นสมัยโน้น ขาตั้งแผงวงจรเป็นแท่งเบอริเรี่ยม ซึ่งได้คุยกับฝรั่ง (MD ของ MADRIGAL ผู้ผลิต Mark Levinson ในยุคนั้น) เขาว่า มีผลต่อเสียงมาก

การที่ NS 1000M เป็นระบบตู้ปิด ลำโพงแต่ละข้าง “หนักมากๆ” คนเดียวน่าจะยกไม่ขึ้นก็แล้วกัน มีปุ่มปรับเสียงด้วย (เสียงแหลมและเสียงกลางด้วย)

จากการที่เคยฟังของเพื่อนใช้ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ ACCUPHASE (รุ่นแรกๆสุดละมั้ง) เพาเวอร์แอมป์เป็นโมโนข้างละ 250 w.RMS/8 โอห์ม ฟังจากจานเสียง (ต้องยอมรับว่า สมัยนั้น ยังฟังกันอย่างผิดๆ คือ ตั้งลำโพงหน้าตรง) เสียง NS 1000M ออกมาโคตร FLAT คือ ตอบสนองความถี่ได้ราบเรียบดุจไม้บันทัดกันเลย และกินวัตต์มากๆ ฟังแล้วเหมือน “กระทุ้ง” ไม่ออก เสียงจม แบนติดจอ ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมาเป็น “ตัวตน” เสียงขาดความสนุก ผ่อนคลาย ไม่มีทิ้งตัวลงของทุ้ม (ออกห้วนๆเหมือนทุ้มลงได้แค่ 100 Hz เสียงขาดทรวดทรง 3 มิติ (3D) โหมไม่ขึ้น การแยกมิติเสียงยังไม่ชัด ออกคลุมเครือ แต่รายละเอียดดีมาก กระชับดีมาก (จนออกเกร็งไปหมด)

ต่อมาไปฟังอีกชุด ก็ออกมาทำนองเดียวกัน รวมทั้งที่โชว์รูมของบริษัทสยามกลการ (เอเย่นต์) เอง

ตอนนั้นเรียนตรงๆว่า เสียง/มิติ ไม่ถูกใจเอาเลย (รุ่นรองลงมาคือ NS 690 หมื่นกว่าบาท/คู่ ก็ทำนองเดียวกัน ตอนนั้นผมซื้อมาใช้ด้วย ฟังไม่นานก็ขายออกไป สภาพ 98% ขายไป  8-9 พันบาท) ผมก็หาเหตุผลไม่ได้ว่า ทำไมเสียงออกมาได้แบบนั้น เหมือนมีแววดี แต่คล้ายผิดพลาดอะไรอยู่

คิดดูว่า ร่วม 30 ปีกว่าผมจะหาเหตุผลได้ ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่มีของจริงเหลืออยู่ให้พิสูจน์ความคิดของผมแล้ว

สาเหตุที่เป็นไปได้ของเสียงอย่างนั้นคือ

1.    ไม่ได้มีการฟังทดสอบทิศทางของสายลำโพงแต่ละเส้นสายภายใน

2.    มีการนำสายลำโพงภายในมาจับมัดอยู่ด้วยกัน (สไตล์ญี่ปุ่นแหละ สวยแต่รูป จูบไม่หอม)

3.    สายลำโพงภายในแตะต้องตูดแม่เหล็กลำโพง และขดลวดบนแผงวงจรแบ่งเสียง

4.    ไม่ได้ฟังทดสอบทิศทางขาอุปกรณ์ทุกชิ้นบนแผงวงจรแบ่งเสียง (ทั้ง L, C, R)

5.    มีการต่อกลับเฟสกันของดอกแหลมกันดอกกลาง ดอกทุ้มน่าจะเหมือนดอกแหลม

6.    กรณีใช้ตัวยูหัวเสียบที่ปลายสายลำโพงทุกๆ เส้นภายใน ไม่ได้มีการฟังทดสอบว่าตัวยูแต่ละหัว ควรเสียบหงายหรือเสียบคว่ำ

7.    วงจรแบ่งเสียงที่ใช้ขดลวด (L) กับตัวเก็บประจุ (C) การให้กระแสวิ่งผ่าน C ก่อน L หรือ L ก่อน C มีผลต่อเสียงแบนหรือไม่อย่างมาก

8.    ใช้การปรับเสียงแหลม และเสียงกลางด้วยวอลลูม ซึ่งจะลดทอนค่า DAMPING FACTOR ทำให้เสียงสดสว่างพลิ้ว ออกด้านๆ ขุ่นๆ ได้

9.  เส้นลวดที่เอามาพันวอยส์คอยล์ของดอกลำโพง เดินย้อนทิศ( บวก ลบ ถูก แต่ตัวเส้นลวด หัว- ท้าย ย้อนทิศ หัวเป็นท้าย ท้ายเป็นหัว)  การขยับเข้า-ออกของไดอาแฟรมอาจถูก แต่เสียงจะแบน( ผิดทิศโมเลกุลของเนื้อเส้นลวด) ซึ่งไม่มีทางแก้ได้เลย ทิ้งอย่างเดียว

ปัจจุบันราคาของเก่าของ NS 1000M ใน e-bay อยู่ที่ประมาณ 13000 เหรียญ US (ประมาณ 4 หมื่นบาท/คู่ รวมค่าส่งด้วย (ตู้หนักมาก) ก็คงไม่พ้น 5 หมื่นกว่าต้นๆ/คู่)

ที่นำ NS 1000M มาพูดถึง ก็เพราะเป็นลำโพงที่ค้างคาใจผมมานาน ใครใช้อยู่และมีโอกาสแก้ไขตาม 8 ข้อที่ผมแนะนำ ก็อยากขอลองฟังด้วยว่าจะออกมาระดับเทพแค่ขนาดไหน (ติดต่อผมได้ โทร. 099-569-6459)

หมายเหตุ

ระวัง! ตัวเก็บประจุที่ทิ้งไว้นานเป็นปีๆไม่ได้ใช้ มันจะฝ่อแห้งหมด เสียงจะยิ่งแบน, เกร็ง, กระด้าง

 

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459